Last updated: 2 มิ.ย. 2566 | 903 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะโลกร้อนที่ใครหลายคนรู้จักนั้น เป็นเพียงหนึ่งในภาวะ ของสถานการณ์โลกรวน เท่านั้นค่ะ “ ภาวะโลกรวน ” หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Climate Change
ภาวะโลกร้อน เราพบว่าอากาศ หรืออุณหภูมิในปัจจุบันนั้นสูงขึ้นมาก ในหลายๆประเทศพบผู้เสียชีวิตจากอากาศที่ร้อน ซึ่งภาวะโลกร้อนเป็นเพียงแค่ผลกระทบส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ ภาวะโลกรวน ไม่ได้มีแค่อากาศที่ร้อน หรืออุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเท่านั้น เพราะยังมีผลกระทบทางด้านอื่นๆตามมา สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง เช่น น้ำท่วมเพราะฝนตกในบางพื้นที่อย่างรุนแรง ความร้อนทำให้น้ำแข็งแถบขั้วโลกละลาย และทำให้พื้นที่ทะเลขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น หรือพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ที่เพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้นในหลายประเทศ
จากเหตุการณ์โลกร้อน และสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆในโลกเริ่มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ ไม่ว่าจะคน สัตว์ หรือพืชพรรณต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือ ต้นกาแฟ นั่นเองค่ะ
มีงานวิจัยจากต่างประเทศในปี ค.ศ. 2019 ( พ.ศ. 2562 ) ที่คาดการณ์ว่า จากสถานการณ์ภาวะโลกร้อน และ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างหนัก จะส่งผลให้สายพันธุ์กาแฟ มากกว่า 60 % ในโลกสูญพันธุ์ในอนาคต สายพันธุ์กาแฟที่ยังคงเหลืออยู่ อาจทำให้การปลูกยากขึ้น ผลผลิตน้อยลงกว่าเดิม อีกทั้งยังส่งผลให้กลิ่นและรสชาติของสายพันธุ์กาแฟที่ยังคงอยู่ เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย พูดง่ายๆก็คืออาจจะไม่อร่อยเหมือนเดิม และด้วยจำนวนกาแฟที่ลดลงก็จะส่งผลให้ราคากาแฟในท้องตลาดโลกแพงขึ้นตามไปด้วยค่ะ
และด้วยเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นนี้ ทางบริษัทฮิลล์คอฟฟ์ของพวกเราจึงมีการเตรียมความพร้อมและเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยการทดลองอันใหม่ FIELD STUDY ของพวกเรา กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในอีกไม่ช้า Q2/2566 ( ไตรมาสที่ 2 หรือช่วงเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2566 ) หลังจากที่ในปี พ.ศ. 2560 เราได้เริ่มทดลองปลูกกาแฟสายพันธุ์โบราณ ในพื้นที่ความสูง 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ( การปลูกนั้นอยู่ภายในโรงงานของเราเอง โดยปลูกร่วมไปกับกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า) โดยการนำเอาสายพันธุ์จากโครงการไทย-เยอรมันในอดีต มาปลูกทิ้งไว้ และต่อยอด ทดสอบ จนได้ผลการทดลองว่าในสภาพการปลูก ในสภาวะภูมิอากาศที่ทรหด แห้ง แล้ง และอากาศร้อนนั้น ต้นกาแฟสามารถอยู่รอดโดยปราศจากแมลง และศัตรูพืช โดยยังให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ซึ่งจากผลทดสอบที่ประสบผลสำเร็จจนถูกต่อยอดมาในปีนี้ ได้มีการขยายแปลงปลูกกาแฟสายพันธุ์โบราณหรือลิเบอร์ริกา ในพื้นที่ต่ำกว่า 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งจากการทดลองทำให้พวกเรามีความหวังเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวค่ะ ต้นกล้าที่ถูกเพาะไว้ มีชีวิตรอดมาได้กว่า 500 ต้นเลยค่ะ
การทดลองของเรานั้น เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยจากพื้นที่ปลูกบริเวณ บ้านปางกื๊ด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และจาก แขวงจำปาสัก ประเทศลาว มาทำการทดลองเพาะในโรงอนุบาลต้นกล้าของเรา
ซึ่งการขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด ทำให้พวกเราลุ้นกันอย่างสุดโต่ง เรียกได้ว่านับวันนับคืนกันเลยทีเดียวค่ะ เนื่องจากการเพาะนั้นใช้เวลางอกจากเมล็ดนานเกือบ 3-4 เดือนกันเลยทีเดียว และเมื่อนำมาเทียบกับกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า ที่ใช้เวลางอกจากเมล็ดมาเป็นต้นกล้าภายในระยะเวลาสองสัปดาห์เท่านั้น ทำให้พวกเรากังวลตลอดทาง เกือบจะท้อ และแทบจะยุติการทดลองนี้ไปเลยค่ะ
แต่แล้วในที่สุด ต้นถั่วงอกน้อยๆ ก็ทยอยงอกและเติบโตอย่างช้าๆ ชีวิตของน้อต้นถั่วช่างสโลว์ไลฟ์จริงๆเลยค่ะ
ณ เวลานี้เราเริ่มมีใบเลี้ยงที่เติบโตต่อจากปีกผีเสื้อแล้ว แต่ก็ยังคงต้องลุ้นกันต่อไป เพราะนี่แค่เพียงการเริ่มต้นเท่านั้น ต้องขอบคุณโครงการเกษตรที่สูงชาวไทยภูเขา ที่เลือกวัสดุเพาะจาก เศษวัสดุในโรงงานที่ไม่ใช่ดิน แต่มาจากขยะในการแปรรูปกาแฟ ซึ่งในที่สุดก็พิสูจน์แล้วว่า Soil Substrate From Coffee ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าเป็นขยะจากการแปรรูปกาแฟนั้น สามารถนำมาเพาะต้นกล้าของกาแฟได้
ฮูเร่!!! น้องงอกแล้วจร้าใบหนาแข็งแรงเชียว แถมงอกในวัสดุเพาะสุดพิเศษที่เราเตรียมให้ ขอให้เติบโตมาอย่างดีเลยน้าาา
และในระหว่างที่รอน้องโต เราไปรู้จักกาแฟสายพันธุ์ ลิเบอร์ริก้ากันค่ะ
Liberica(Coffea Liberica) เป็น 1 ใน 4 สายพันธุ์ของกาแฟ ซึ่งทางการค้าของตลาดโลกมีสายพันธุ์ทั้ง 4 ดังนั้น
1. อราบิก้า ( Arabica )
2. โรบัสต้า ( Robusta )
3. เอ็กซ์เซลซ่า ( Excelsa )
4. ลิเบอร์ริกา/ไลเบอร์ริกา ( Liberica )
กาแฟสายพันธุ์นี้ มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศไลบีเรีย ในป่าตะวันตกของทวีปแอฟริกา ซึ่งในประเทศไลบีเรียนั้น ได้มีการนำกาแฟสายพันธุ์นี้ไปปลูกในพื้นที่อื่นๆทั่วโลกด้วย และได้เข้าสู่ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปลายศตวรรษที่ 19 ( อยู่ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1801 ถึง ค.ศ. 1900 )
พื้นที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์ลิเบอร์ริกาที่เราพบเห็นกันนั้น จะอยู่ในเขตตะวันตกของทวีปแอฟริกาและประเทศในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศมาเลเซีย เวียดนาม และพบมากที่สุดในประเทศฟิลิปปินส์ค่ะ ซึ่งชาวชาวฟิลิปปินส์จะเรียกมันว่า “Bakaro”
และด้วยคุณสมบัติ รสชาติที่มีความสลับซับซ้อนและให้มิติความลึกของกลิ่น รสชาติ แปลกใหม่และเก๋ไม่เหมือนใคร เราจึงมักจะใช้กาแฟตัวนี้เป็นส่วนผสมของการชูรสกับกาแฟชนิดอื่นๆ หรือเรียกว่านำไปเบลนด์กับเมล็ดกาแฟอื่นๆนั่นเองค่ะ
ในการทดลองของเรา มีการแปรรูปกาแฟแบบ wine process ของฮิลล์คอฟฟ์ โดยเราแปรรูป กาแฟสายพันธุ์ลิเบอร์ริกา ร่วมกับ กาแฟสายพันธุ์ โรบัสต้า ซึ่งเราสามารถสร้างกาแฟพิเศษที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์และกลิ่นที่หอมฉุย ของผลไม้ และดอกไม้ที่ล้ำลึก มีกรดต่ำและมีบอดี้ที่ดี โดยการทดลองครั้งนี้ คาดไม่ถึงว่าจะได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี เป็นที่นิยมของตลาดและขายหมดไปอย่างรวดเร็ว และนี่นะคะก็คือที่มาของความพยายามของเรา ในการขยายพันธุ์และแปลงปลูกกาแฟสายพันธุ์ลิเบอร์ริกาของเรานั่นเองค่ะ
นี่ก็คืองานทดลองแปรรูปกาแฟ wine process ร่วมกัน ทั้งสายพันธุ์โรบัสต้าและลิเบอร์ริกา ในโรงงานกาแฟชาวไทยภูเขา ฤดูการผลิต2561/62 ที่ผ่านมาค่าาา
ถึงแม้ทุกคนจะเห็นตั้งแต่กระบวนการเพาะกล้า ไปจนถึงออกผลผลิตกันแล้ว แต่การปลูกกาแฟสายพันธุ์ลิเบอร์ริกานั้นไม่ง่ายเลยค่ะ เพราะถือว่าเป็นกาแฟสายพันธุ์ที่เติบโตช้ามากๆ และมีผลผลิตต่ำ โดยจะเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 5 ลักษณะของต้นกาแฟสายพันธุ์นี้เหมือนกับต้นขนุนที่มีใบหนาใหญ่และกิ่งแขนงแยกตั้งแต่โคนต้น ตัวต้นสูงใหญ่ โดยยังสามารถเติบโตสูงถึง 10 เมตรกันเลยที่เดียว แต่พอเค้าเติบโตเป็นพุ่ม ก็สามารถปลูกกลางแดดได้ ทนแดดมากกว่ากาแฟสายพันธุ์อื่นๆ ด้วยค่ะ
และนี่ก็คือโฉมหน้าเจ้าลิเบอร์ลิก้าหรือเจ้าต้นขนุนยักษ์ของเราค่ะ
การแปรรูป หรือ Process กาแฟสายพันธุ์ลิเบอร์ริกานั้น มักนิยมนำมาแปรรูป ด้วยกรรมวิธี Dry process เพราะเนื้อของผลกาแฟมีขนาดใหญ่ เนื้อหนาและแข็งมาก โดยเมื่อถึงระยะที่สุกก็จะเห็นได้ทั้งสีเหลือง ส้ม ชมพู แดง โดยรูปลักษณะของผลกาแฟลิเบอร์ริก้าพวกเราชอบเรียกว่ากาแฟนมสาว เพราะมีสะดือที่ยกสูงและนูนชัดเจน ชี้ไปด้านข้างตำแหน่งไม่ตรงกับขั้วของเม็ดกาแฟลิเบอร์ริกาไม่นิยมนำผลเชอร์รี่มาสีสดเพราะสียาก และเมื่อนำไปสีจะพบว่า เมล็ดกาแฟสารด้านใน ที่มีลักษณะสีเหลืองจีบปลายบนและล่างคล้ายกับเมล็ดข้าวมีขนาดใหญ่มีกลิ่นหอมฉุน ซึ่งในตลาดกาแฟพิเศษ ( Specialty Coffee ) จะให้การต้อนรับและชื่นชมในโปรไฟล์รสชาติที่แตกต่างและหายากของกาแฟลิเบอร์ริก้ามาก ถือเป็นตัวเลือกที่มีความน่าสนใจสำหรับนักคั่วกาแฟที่ต้องการสร้างสรรค์รสชาติ เอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และที่สำคัญคือปริมาณคาเฟอีนในกาแฟลิเบอร์ริกานั้นสูงกว่าทั้งสายพันธุ์อราบิก้าและโรบัสต้า
เมื่อมาถึงตอนนี้เราลองคิดกันดูว่า กาแฟสายพันธุ์ลิเบอร์ริกา นั้น จะเป็นอีกโอกาสหนึ่งสำหรับเกษตรกรไทยหรือไม่ ยิ่งโดยเฉพาะเกษตรกร ที่มีพื้นที่ในการปลูกไม่สูงมากนัก รวมไปถึงความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ ความแปรปรวนอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้กาแฟสายพันธุ์อราบิก้าอ่อนแอและอาจจะกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในอนาคตได้ เราจึงจำเป็นต้องมองหา สายพันธุ์ที่ทนต่อสภาวะ แห้ง แล้ง ทนแดด และสามารถเติบโตได้ในสภาวะอากาศที่ผันผวนขึ้นลงได้ดี มีแมลง ศัตรูพืชในธรรมชาติที่น้อย ซึ่งแน่นอนว่าเราอยากเห็นความยั่งยืนในภาคการเกษตรรวมไปถึงความยั่งยืนของเกษตรกร
ให้มีความเสี่ยงในการเพาะปลูกต่ำ และมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการวางแผนการปลูกอย่างยั่งยืนให้เหมาะสมกับโลกในอนาคตนั้น ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยค่ะ เป็นเรื่องที่เราทุกคนอาจจะต้องเจอในอนาคต ดังนั้นควรเริ่มต้นทำตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อก้าวสู่ความยั่งยื่นในอนาคตค่ะ
ลิเบอร์ริกา จะเข้ามาช่วยทดแทนได้หรือไม่ และจะสามารถเดินเข้าสู่ตลาดกาแฟสเปเชียลตี้ กาแฟพิเศษ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีได้อย่างไร พวกเราจะเดินทางหาคำตอบเรื่องนี้ไปด้วยกันค่ะ
เรียบเรียงโดย : Hillkoff Academy
17 ส.ค. 2567
1 มิ.ย. 2566
25 ต.ค. 2567