Last updated: 22 ก.ค. 2567 | 5318 จำนวนผู้เข้าชม |
ความแตกต่างที่คุณต้องรู้ Latte Vs Flat White
หากพูดถึงเครื่องดื่มเมนูกาแฟของใครหลายคน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมนูลาเต้ร้อน (Cafe Latte) และ แฟลตไวท์ (Flat White) เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ด้วยกลิ่นหอมของกาแฟและสัมผัสถึงความนุ่มละมุนของนม ทำให้เครื่องดื่มทั้งสองเมนู มัดใจคอกาแฟอย่างง่ายดาย ปัจจุบันสามารถหาดื่มได้ในร้านกาแฟทั่วโลก ซึ่งหลายคนอาจมีข้อสงสัยที่ว่าเมนูทั้งสองแตกต่างกันหรือไม่ เมื่อมองดูภายนอกแล้วทำไมคล้ายกัน ? บทความนี้เรามาดูกันว่าอะไรคือสิ่งที่จะแยกความแตกต่างระหว่าง Latte และ Flat White ทั้งที่มีส่วนผสมเป็นนมร้อนและเอสเปรสโซ่ เหมือนกัน
ลาเต้ (Latte / Cafe Latte)
1. เป็นเครื่องดื่มมาตรฐานกาแฟร้อนของร้านกาแฟ นิยมทั้งในยุโรปและอเมริกา ซึ่งในภาษาอิตาลี แปลว่า “กาแฟใส่นม” มีส่วนประกอบของนมจะมีมากกว่ากาแฟ ทำให้รสชาติของเครื่องดื่มมีความนุ่มละมุน กลมกล่อม
2. มาตรฐานของเอสเปรสโซ่เริ่มจากการสกัดด้วยวิธี Brewing Ratio for Espresso โดยใช้อัตราส่วนระหว่าง ปริมาณผงกาแฟ (Dose) ต่อ ปริมาณน้ำกาแฟที่ถูกสกัดออกมาได้ (Yield) โดยใช้สัดส่วน Ratio Espresso อยู่ที่ (1 : 2)
3. ความร้อนของนม (Steamed Milk) ควรอยู่ที่ 60-65 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำตาลแลคโตส (Lactose) แตกตัวและทำให้ต่อมรับรสหวานภายในลิ้นของเราสามารถรับรู้รสชาติได้
4. ความหนาของโฟม (Micro-foam) ควรอยู่ที่ประมาณ 1 เซนติเมตร ลักษณะเป็นเนื้อครีม เนียนละเอียด ด้วยความหนาที่ไม่มากเกินไปจึงนิยมเทเป็นลวดลายศิลปะบนแก้วกาแฟได้
แฟลตไวท์ (Flat White)
1. เครื่องดื่มกาแฟนมที่ได้รับนิยมอย่างมาก ในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
2. ความหมายของเครื่องดื่ม (Flat = เรียบ/แบน) , (White = สีขาวหรือใช้เรียกแทนนมสีขาว) เป็นเมนูที่มีความเข้มข้นของกาแฟมากกว่าลาเต้ แต่ยังคงสัมผัสที่นุ่มละมุนของนมร้อนไว้เป็นอย่างดี
3. แฟรตไวท์นิยมใช้ ช็อตริสเทรสโต้ (Ristretto) ในอัตราส่วน Brewing Ratio (1 : 1) โดยช็อตริสเทรสโต้จะมีปริมาณความเข้มข้นของน้ำกาแฟมากกว่าเอสเปรสโซ่ (ความเข้มข้นในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงความขม นะครับ) จากเวลาในการชงที่สั้นกว่าและปริมาณน้ำที่ใช้ในการสกัดน้อย ส่งผลให้ได้ช็อตกาแฟที่เข้มข้น รสชาติอร่อย หรือ ใครที่อยากได้รสชาติแบบเอสเปรสโซ่ในการทำเครื่องดื่มแฟลตไวท์ก็สามารถทำได้เช่นกัน
4. อุณหภูมิความร้อนของแฟลตไวท์จะคล้ายกับการทำลาเต้อุณหภูมิอยู่ที่ 60-65 องศาเซลเซียส และดึงอากาศ (Aeration) เข้าเพียงเล็กน้อย ให้มีความหนาของโฟมบางๆ หนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร หรือ ใครจะเสิร์ฟแบบนมร้อนๆ ไร้โฟมนมก็ได้เช่นเดียวกัน
จะเห็นได้ว่าความแตกต่างของหลักๆ เมนูทั้งสองนั้น คือ ความหนาของโฟมนมที่ทำให้รสชาติและความรู้สึกในการดื่มแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามการสกัดกาแฟต้องอยู่ในพื้นฐานของการสกัดที่ดี และบาริสต้าต้องใส่ใจกับคุณภาพของเครื่องดื่มที่เพื่อมัดใจผู้บริโภคในทุกๆแก้ว
เรียบเรียงโดย : Hillkoff Academy
17 ส.ค. 2567
25 ต.ค. 2567
24 ก.ค. 2567