Last updated: 25 เม.ย 2568 | 6 จำนวนผู้เข้าชม |
ชาเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและหลากหลายในด้านรสชาติ กลิ่น และประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าแทบทุกชนิดของชา (ยกเว้นชาสมุนไพร) มีคาเฟอีนในปริมาณที่แตกต่างกัน แม้ว่าชาจะมีคาเฟอีนต่ำกว่ากาแฟ แต่ก็ยังส่งผลต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไวต่อคาเฟอีน จึงจำเป็นต้องจำกัดการบริโภค เช่น ผู้ตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีภาวะหัวใจและความดันโลหิตสูง
แม้จะเป็นชาเช่นเดียวกัน แต่ปริมาณคาเฟอีนที่ผู้บริโภคได้รับจริงในแต่ละแก้วนั้นอาจแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยขึ้นอยู่กับ
ชนิดของชา อย่างเช่น ชาดำผ่านกระบวนการหมักเต็มรูปแบบ (Oxidation) จะมีคาเฟอีนสูงกว่าชาเขียวหรือชาขาวที่ผ่านกระบวนการน้อยกว่า แต่ละชนิดมีระดับการหมักที่ต่างกัน ส่งผลต่อปริมาณคาเฟอีนที่สกัดออกมา
ตำแหน่งของใบชา ชาใบอ่อน (Tip) มักมีคาเฟอีนสูงกว่าใบแก่
วิธีการชงชา ระยะเวลาในการแช่ อุณหภูมิน้ำ และปริมาณใบชาที่ใช้ ล้วนส่งผลต่อระดับคาเฟอีนที่ถูกสกัดออกมา
ลักษณะของผลิตภัณฑ์ ชาผงบดละเอียด เช่น มัทฉะ (Matcha) ที่บริโภคทั้งใบชาในรูปผง จึงให้คาเฟอีนสูงกว่าแบบใบชาปกติ
กระบวนการผลิต ชาเย็นบรรจุขวดอาจมีการเติมสารปรุงแต่งและมีคาเฟอีนในระดับต่ำลง
การเปรียบเทียบปริมาณคาเฟอีนในชาแต่ละประเภทสามารถช่วยให้คุณเลือกเครื่องดื่มที่เหมาะสมกับความต้องการของคุณได้ โดยเฉพาะหากคุณใส่ใจในเรื่องของสุขภาพและการบริโภคคาเฟอีน ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณคาเฟอีนในชาแต่ละประเภท (ต่อแก้วขนาด 240 มิลลิลิตร)
ประเภทชา | ลักษณะการผลิต | คาเฟอีน (มก.) | หมายเหตุเพิ่มเติม |
ชาดำ Black Tea | ผ่านกระบวนการหมักเต็มที่ | 40–70 | มีรสชาติคล้ายกาแฟ ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า |
ชาเขียว Green Tea | ไม่ผ่านการหมัก/ อบด้วยไอน้ำหรือคั่วทันที | 20–45 | มีสาร L-theanine ที่ช่วยผ่อนคลาย |
ชาอู่หลง Oolong Tea | หมักบางส่วน ระหว่างชาเขียว–ดำ | 30–50 | สมดุลระหว่างคาเฟอีน และกลิ่นหอม |
มัทฉะ Matcha | บดใบชาเขียวทั้งใบเป็นผง | 60–70 | ได้รับคาเฟอีนและสารต้านอนุมูลอิสระ |
ชาขาว White Tea | ใช้ยอดอ่อน อบแห้ง/ไม่ผ่านการหมัก | 15–30 | คาเฟอีนต่ำที่สุด เนื่องจาก ผ่านกระบวนการผลิตน้อยที่สุด |
ชาสมุนไพร Herbal Infusion | ดอกไม้/สมุนไพร ไม่มีใบชา | 0 | เช่น คาโมมายล์, เปปเปอร์มิ้นต์ ฯลฯ |
ชาไทย Thai Milk Tea | ชาดำ และปรุงแต่งด้วย น้ำตาล/นม | 30–60 | ปริมาณขึ้นกับสูตรและวิธีชง |
สำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงคาเฟอีน ก็ยังมีชาที่ไม่มีคาเฟอีนถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสม โดยสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ได้แก่ ชาสมุนไพร และ ชาดีแคฟ (Decaf Tea) ซึ่งทั้งสองประเภทมีลักษณะและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนี้
ชาสมุนไพร เป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของใบชาแท้จากต้นชา จึงปราศจากคาเฟอีนตามธรรมชาติ ชาสมุนไพรผลิตจากส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ใบ ดอก ผล เมล็ด หรือราก ซึ่งแต่ละชนิดมีรสชาติ กลิ่น และคุณประโยชน์เฉพาะตัว ชาสมุนไพรที่ได้รับความนิยม ได้แก่
ชารอยบอส (Rooibos Tea) ผลิตจากพืชพื้นเมืองในแอฟริกาใต้ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยลดการอักเสบ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และส่งเสริมสุขภาพหัวใจ
ชาขิง คุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการท้องอืด คลื่นไส้ และช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร นอกจากนี้ยังช่วยลดการอักเสบและเสริมสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย
ชาดอกไม้ ชากุหลาบ ชาดอกลาเวนเดอร์ หรือชาดอกคาโมมายล์ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยผ่อนคลาย ลดความเครียด และส่งเสริมการนอนหลับ
ชาสะระแหน่ มีฤทธิ์ช่วยลดอาการท้องอืดและช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น พร้อมทั้งให้ความสดชื่น
ชาดีแคฟ (Decaf Tea) ชาแท้ที่ผ่านกระบวนการลดคาเฟอีนจนเหลือปริมาณเพียงเล็กน้อย โดยทั่วไปจะมีคาเฟอีนไม่เกิน 2-4 มิลลิกรัมต่อแก้ว ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับชาทั่วไปหรือกาแฟ กระบวนการลดคาเฟอีนในชาใช้วิธีทางเคมีหรือวิธีธรรมชาติ การใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือน้ำ เพื่อสกัดคาเฟอีนออกโดยไม่ทำให้รสชาติและกลิ่นของชาเปลี่ยนไป อย่างเช่น ชาดำดีแคฟ ชาเขียวดีแคฟ และชาอู่หลงดีแคฟ ซึ่งทั้งหมดจะยังให้รสชาติที่เข้มข้นและกลิ่นหอม แต่จะมีปริมาณคาเฟอีนต่ำ
การดื่มชาเป็นประจำสามารถเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้ หากเลือกดื่มชาให้เหมาะสมกับประเภทและเวลาที่ดีที่สุด การเลือกชาแต่ละชนิดควรพิจารณาจากความต้องการส่วนบุคคลและผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อให้คาเฟอีนจากชาเป็นประโยชน์ ไม่ใช่ภาระต่อสุขภาพ
เรียบเรียงโดย : Hillkoff Academy