ปริมาณคาเฟอีนในกาแฟ

Last updated: 1 เม.ย 2568  |  7400 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปริมาณคาเฟอีนในกาแฟ

           ระหว่างนั่งกินกาแฟเราเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า กาแฟที่เราดื่มไปนั้นมีคาเฟอีนอยู่ในกาแฟมากน้อยเท่าไหร่ แล้วเจ้าคาเฟอีนมันคืออะไร หรือแม้กระทั่ง การรับเอาคาเฟอีนเข้าร่างกายนั้นควรมีปริมาณเท่าไหร่ มีผลดีต่อร่างกายยังไง คำถามเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้เราเข้าใจการบริโภคในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการดูแลสุขภาพในระยะยาวด้วย

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักเจ้าตัวคาเฟอีนกันก่อนว่าคืออะไร

           “คาเฟอีน” (Caffeine) นั้นเป็นสารแซนทีนอัลคาลอยด์ (Xanthine Alkaloid) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ร่างกายของเรานั้นเกิดความตื่นตัวและมีคุณสมบัติในการช่วยลดความง่วง และเพิ่มความสามารถในการมีสมาธิและการทำงานของสมอง กาแฟจึงเป็นเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมของผู้คนทุกกลุ่ม ยิ่งใครทำงานดึก ๆ หรือต้องเดินทาง ก็มักจะใช้กาแฟมาเป็นตัวช่วยกันทั้งนั้น

           หากถามหาความเข้นข้นของคาเฟอีนในกาแฟนั้น ปกติคาเฟอีนในกาแฟเราจะพบว่าเป็นส่วนประกอบที่อยู่ในเมล็ดกาแฟดิบอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าเรานำไปคั่ว ความร้อนนั้นก็จะไม่ส่งผลทำให้คาเฟอีนในตัวกาแฟนั้นสลายไป เนื่องจากเป็นสารที่มีจุดเดือดสูงและทนต่อความร้อนได้ดี อย่างไรก็ตาม ส่วนที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในการคั่วกาแฟนั้นจะมีในส่วนของค่าความชื้นในเมล็ดกาแฟที่ลดลง จาก 12%เหลือเพียง 2% เท่านั้น ค่าสีเมล็ดกาแฟที่เปลี่ยนตามระดับการคั่ว และที่เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ซึ่งมีผลต่อกลิ่นหอมของกาแฟเมื่อชง

           ในส่วนของสายพันธุ์กาแฟนั้นก็สามารถแยกปริมาณคาเฟอีนมากน้อยได้เหมือนกัน ซึ่งในส่วนของสารพันธุ์กาแฟ Robusta นั้นจะมีค่าคาเฟอีนมากกว่า Arabica ถึง 2 เท่าเลยทีเดียว และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข “กาแฟ” ต้องมีคาเฟอีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 1% ของน้ำหนักปริมาณคาเฟอีนในกาแฟ หรือ กาแฟคั่ว 100 กรัมมีคาเฟอีนมากกว่า 1 กรัมนั่นเอง และในแต่ละวันนั้นการดื่มกาแฟที่เหมาะสมเราควรดื่มวันละไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/วัน หรือเทียบเท่ากาแฟดำประมาณ 3-4 แก้ว (ขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดแก้ว) ก็พอเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายที่สุด ถ้าหากดื่มมากเกินไปปริมาณคาเฟอีนจะส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกายได้
           1) ระบบประสาทส่วนกลาง: อาจทำให้เกิดอาการมือสั่น นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ หรือในกรณีรุนแรงอาจมีอาการชัก
           2) ระบบทางเดินอาหาร: คาเฟอีนกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ผู้ที่มีโรคแผลในกระเพาะหรือลำไส้ควรหลีกเลี่ยง
           3) ระบบไหลเวียนโลหิต: อาจเพิ่มความดันโลหิตและภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่ชินกับคาเฟอีนหรือมีโรคประจำตัว
           4) ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบขับถ่ายและไต คาเฟอีนมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น

           ในการดื่มกาแฟนั้น หากดื่มในปริมาณที่พอเหมาะจะมีประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งการช่วยป้องกันอนุมูลอิสระในร่างกาย ช่วยกระตุ้นประสาทในการทำงาน ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ป้องกันโรคหัวใจ และในส่วนกาแฟดำนั้นยังสามารถช่วยในการลดน้ำหนักอีกได้ด้วยนะ

ปริมาณคาเฟอีนในกาแฟแต่ละประเภท

ประเภทการชงปริมาณกาแฟคาเฟอีนโดยประมาณ
Espresso (1 ช็อต) 30 มล.63 มก.
Drip/Brewed Coffee240 มล.95-120 มก.
French Press240 มล.80-100 มก.
Cold Brew (เข้มข้น) 240 มล.150-200 มก.


ทั้งนี้ ปริมาณคาเฟอีนจะเปลี่ยนแปลงได้ตาม:
           • ประเภทของเมล็ดกาแฟ (Robusta จะมีคาเฟอีนมากกว่า Arabica)
           • ระดับการคั่ว (กาแฟคั่วเข้มมักมีคาเฟอีนต่อกรัมน้อยลง แต่ต่อแก้วมากขึ้นหากใส่เยอะ)
           • วิธีการชง (เวลาและแรงดันในการสกัด)


เรียบเรียงโดย : Hillkoff Academy

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้ Cookies Policy